533291
Users Today : 7
Total Users : 394362
Who's Online : 1
Your IP Address : 18.226.93.207
Server Time : 2024-04-24

เวลา 09.45 น.วันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ณ โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร

เวลา 09.45 น.วันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ณ โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการแก่ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้สนใจ โดยได้พระราชทานนามอาคารพร้อมตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ประดิษฐานที่ป้ายชื่ออาคาร ซึ่งสูง 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ให้บริการห้องสมุดหนังสือ รวมทั้งการสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ และสื่ออิเลคทรอนิกส์, ชั้นที่ 2 เป็นห้องสมุดไอที มีพื้นที่เรียนรู้เสริมทักษะด้านไอที รวมทั้งวีดีทัศน์สอนเพิ่มเติมในวิชาหลัก ส่วนชั้นที่ 3ให้บริการฉายภาพยนตร์ส่งเสริมคุณธรรม  ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานของโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีส่วนร่วมกับชุมชน มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และพอเพียง

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร มูลนิธิชัยพัฒนา พร้อมทั้งทรงตรวจเยี่ยมงานขยายผลของศูนย์ฯที่ตำบลเนินมะกอก อำเภอบางมูลนาก โดยทรงฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานทั้ง 5 จุดซึ่งมีการปลูกพืชผักและเพาะเห็ด เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตพืชผักที่ดี และเหมาะสมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้ผลผลิตปลอดสารพิษ มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด  ปีที่ผ่านมาจัดทำแปลงปลูกพืชผัก 161 แปลง มีผัก 24 ชนิดและสาธิตการเพาะเห็ดชนิดต่าง ๆ ใน 4 โรงเรือน ส่วนงานการประมง สาธิตและถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม รวมทั้งรวบรวมพันธุ์ปลาไว้ 18 สายพันธุ์ ทั้งยังสาธิตการเลี้ยงปลาดุก ปลานิลแดง ในบ่อพลาสติก และเลี้ยงกบในนา โดยเพาะขยายพันธุ์จำหน่ายให้เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม

ส่วนการผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี เน้นการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพของผลผลิตข้าวเปลือก ให้การประกอบอาชีพมีรายได้สูงขึ้นรวมทั้งสาธิตการเลี้ยงโคนมเพื่อลดต้นทุน ซึ่งมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และเกิดผลตอบแทนที่สูงขึ้น ให้เกษตรกรอยู่ได้ และมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ โดยมีเกษตรกรสนใจเข้าอบรมเป็นจำนวนมาก

โอกาสนี้ ทรงทดลองใช้เครื่องโรยเมล็ดพันธุ์ข้าวขนาดเล็กลงในถาดสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์กล้าข้าวที่ใช้ทำนาโยน ซึ่งมีอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าสูงใช้เวลาเพียง 14 วัน ต้นกล้าก็พร้อมที่จะนำไปปลูกในแปลงนาได้  เหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือน โดยใช้ข้าวพันธุ์ กข 49 ที่ให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรคเพลี้ยกระโดด และโรคใบไหม้ เป็นข้าวนาปรังที่เหมาะสมกับพื้นที่

ในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านบึงประดู่ อำเภอตะพานหิน ทรงฟังบรรยายประวัติการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่เกิดจากความร่วมมือของเกษตรกรในพื้นที่ หลังจากเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสมจากศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการดำเนินงาน ได้แก่ ขั้นตอนการปลูก สมาชิกได้ประดิษฐ์ชุดลำเลียงพร้อมระบบรดน้ำอัตโนมัติ ทำให้การเพาะกล้าสะดวกรวดเร็ว ได้ปริมาณมาก ส่วนการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ระดับเกษตรกรก่อนและหลังรับซื้อ ได้ทอดพระเนตรการตรวจวัดความชื้นต้องไม่เกินร้อยละ 12, สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2, ข้าวปนไม่เกิน 10 เมล็ด ในปริมาณข้าว 500 กรัม และความงอกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85  เดิมเกษตรกรชุมชนบ้านบึงประดู่ ทำนาโดยใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้น เพื่อเพิ่มจำนวนรอบในการปลูก ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์จากร้านค้าที่ไม่ทราบคุณภาพ เมื่อเพาะปลูกทำให้ข้าววัชพืชขยายวงกว้าง ผลผลิตข้าวตกต่ำ ประกอบกับเกษตรกรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรค และแมลงศัตรูข้าว ต้นทุนการทำนาจึงสูง ผลตอบแทนต่อไร่ในแต่ละปีแทบขาดทุน ในปี 2552 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอตะพานหินจัดตั้งกลุ่มข้าวต้นแบบ ในพื้นที่บ้านบึงประดู่ ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวต้นแบบตามระบบความปลอดภัยด้านอาหารจังหวัดพิจิตร เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี แก้ปัญหาข้าววัชพืชแพร่ระบาด  พร้อมทั้งนำเกษตรกรเข้าศึกษาดูงานและฝึกอบรมเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร  ปัจจุบันศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านบึงประดู่ มีสมาชิก 25 ราย มีพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 487 ไร่ ใน 1 ฤดู สามารถรับเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ 500 ตัน เพื่อนำไปลดความชื้น และคัดทำความสะอาด  ก่อนส่งจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า “ประดู่คู่รวงทอง” ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 29, กข 31, กข 41 และ กข 47 ที่เหมาะสมต่อการปลูกในพื้นที่ ปลูกได้ทั้งปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 100 ถังต่อไร่ ขายได้ประมาณ 12,000 – 14,000 บาท

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตพันธุ์ข้าว และปุ๋ยอินทรีย์ บ้านต้นชุมแสง ตำบลงิ้วราย ซึ่งเป็นจุดขยายผลการเรียนรู้ของศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร  ซึ่งเริ่มจากเกษตรกร 5 คน ต้องการแก้ปัญหาจากการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตรในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดหนี้สิน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและปัญหาสุขภาพ จึงรวมกลุ่มศึกษาเรียนรู้ และดูงาน ดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีสมาชิก 152 คน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยมีเป้าหมาย ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด 500 ตันต่อปี, เมล็ดพันธุ์ข้าว 200 ตันต่อปี, ดินสำราญสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ 500 ตันต่อปี, น้ำหมักชีวภาพ 10,000 ขวดต่อปี นอกจากนี้ ยังมีงานบริการคัดพันธุ์ข้าว 200 ตันต่อปี และงานบริการลานตากข้าว 200 ตันต่อปี มีหมู่บ้านเป้าหมาย ได้แก่ บ้านต้นชุมแสง และบ้านน้ำโจนใต้
ปัจจุบันดำเนินงานในพื้นที่ 3,000 ไร่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 10,000 ไร่

โอกาสนี้ มีพระราชดำริให้กรมชลประทาน จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมแก่เกษตรกร ให้มีน้ำเพียงพอทำการเกษตรจากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการที่หน่วยงานต่างๆ เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกร อาทิ แบบอย่างเกษตรกรจากอำเภอต่างๆ ที่นำความรู้จากศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร ไปใช้จนประสบผลสำเร็จ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ต้นทุนต่ำของกรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงการสาธิตการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นเม็ด เพื่อง่ายต่อการหว่าน เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนนำเข้าเครื่องปั้นปุ๋ยให้เป็นเม็ด แล้วคัดแยกพร้อมบรรจุถุงนำไปใช้ หรือจำหน่าย ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้มีรายได้มากขึ้น สภาพดินและสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์มากขึ้น เกษตรกรมีสุขภาพแข็งแรง ตลอดจนเป็นแหล่งสร้างงาน และสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ผลผลิตข้าว และผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน  ในการนี้ ทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่องข้าว ซึ่งกลุ่มได้คัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตจากสมาชิก และรับซื้อจากเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และจะเริ่มสีเป็นข้าวสารด้วยโรงสีข้าวชุมชน